![]() |
|
หัวใจสามห้องของนักศิลปะ | |
หัวใจสามห้องของนักศิลปะ อนันต์ ประภาโส ชีวิตของคน ๆ หนึ่งที่เกิดหลงใหลในความงามของศิลปะเสียแล้วไม่ว่าเขาจะเติบโตไปในสายอาชีพใด สุดท้ายเมื่อเวลาในชีวิตของเขาเหลือจากงานประจำก็ต้องหันกลับมาเสพศิลปะตามใจปรารถนา เช่นหลาย ๆ ท่านที่เรารู้จักไม่ว่าจะเป็น อาจารย์กำจร สถิรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นายแพทย์วิทยา นาควัชระ แพทย์หญิงพันทิวา สินรัชตานันท์ หรือแม้แต่คุณชวน หลีกภัย ก็ยังหาเวลาว่างหลีกลี้จากงานประจำไปทำกิจกรรมทางศิลปะออกบ่อย ๆ สำหรับน้อง ๆ ที่ต้องการเติบโตไปในแวดวงของสิลปะจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ความสามารถในเชิงศิลปะที่เชี่ยวชำนาญ เพื่อที่จะสามารถสร้างสรรค์ผลงานเพื่อตอบสนองตัวเอง หรือลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ การทำงานศิลปะให้ดีได้อย่างใจนึกต้องคำนึงถึงหัวใจสำคัญของศิลปะ 3 ข้อ คือ 1. ต้องมีความรู้ความสามารถในการวาดเส้นเป็นอย่างดี 2. ต้องเข้าใจในเรื่ององค์ประกอบศิลป์เป็นอย่างดี 3. ต้องรู้จักทฤษฎีสีและสามารถนำมาใช้ในการทำงานได้ หากน้อง ๆ สามารถเรียนรู้และฝึกฝนทั้งสามสิ่งนี้ได้อย่างลึกซึ้ง และถ่องแท้ และยึดถือไว้เป็นสรณะในใจตลอดเวลาแล้ว ชีวิตนี้น้องไม่ต้องไปทำอะไรแล้ว ทำแต่ศิลปะอย่างเดียวก็สบาย ไม่ว่าจะมาไม้ไหนเราก็สามารถที่จะรับได้ทุก ๆ สถานการณ์ ทั้งงานวิจิตรศิลป์ หรืองานศิลปะประยุกต์ ความหมายและประโยชน์ในการศึกษาวิชาต่าง ๆ ทั้งสามวิชามีดังนี้ วาดเส้น พื้นฐานที่สำคัญที่สุดของนักศิลปะก็คืองานวาดเส้น (DRAWING) เป็นการสื่อความหมายวิธีหนึ่งของมนุษย์เป็นการนำเสนอความคิดของหู้วาดไปสู่ผู้ดูด้วยขบวนการทางการวาด ขีด ขูด เขียน ลากให้เกิดเส้นหรือร่องรอยด้วยวัสดุอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อการสื่อความหมาย บันทึกประสบการณ์ หรือจินตนาการเป็นการแสดงออกให้ปรากฏซึ่งความคิด ความเชื่อ หรือเพื่อเป็นหลักฐานบางอย่าง ในทางวิชาการ การวาดเส้นถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในขบวนการสร้างสรรค์เนื่องจากศิลปะในทุกแขนงจะต้องใช้กรรมวิธีการวาดเส้นเป็นขั้นตอนแรกในการถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ในความคิดให้เกิดเป็นรูปธรรมก่อนที่จะพัฒนาไปสู่การนำเสนอในรูปแบบอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น จิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม หรืองานออกแบบอื่น ๆ องค์ประกอบศิลป์ การดู เป็นขบวนการที่สำคัญที่สุดในงานประเภททัศนศิลป์ ผลงานที่ปรากฏต่อสายตาจะดี จะสวย แปลกใหม่ เหมาะสมหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการจัดวางองค์ประกอบด้วย ศิลปะที่ดีนั้นต้องมีความพอเหมาะพอดีในการเลือกใช้สื่อต่าง ๆ เช่น การวางตำแหน่งของวัตถุในภาพการใช้น้ำหนักในปริมาณที่เหมาะสม การสร้างความกลมกลืนในภาพการวางจุดเด่นให้ผลงานมีความน่าสนใจ ฯลฯ หากเรามีการจัดองค์ประกอบของภาพที่นำเสนอให้สวยงามเหมาะสมกับเนื้อหาสาระที่ต้องการแสดงออก มีการสร้างสรรค์ที่สามารถกระตุ้นให้ผู้สนใจ และคล้อยตามได้ เมื่อบวกกับความสามารถในการวาดเส้นแล้วเราก็สามารถสื่อความคิดของเราไปสู่ผู้ดูได้อย่างถูกต้องตรงกับความรู้สึกของเรา ทฤษฎีสี สี มีความสำคัญต่ออารมณ์ และความรู้สึกของมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์สนุก เศร้า ดีใจ เสียใจ เหงาหงอย ฯลฯ เหล่านี้สามารถที่จะใช้สีเป็นสื่อภาษาบอกอารมณ์ เช่น สีแดงให้ความรู้สึกร้อนแรง ตื่นเต้น สีเขียวให้ความรู้สึกสดชื่นมีชีวิตชีวา เป็นต้น หากเรามีความรู้ความเข้าใจเรื่องสีเป็นอย่างดี และรู้ว่าสีแต่ละสีมีอิทธิพลต่อกันอย่างไร และมีอิทธิพลต่อผู้ดูอย่างไร เมื่อนำมาประกอบเข้ากับการวาดเส้นที่สวยงาม และการจัดองค์ประกอบของภาพที่เหมาะสมแล้ว ผลงานชิ้นนั้นก็จะสมบูรณ์ที่สุด เพราะสีจะเป็นตัวบ่งบอกถึงสภาพความเป็นจริงได้ดี เช่น การชมโทรทัศน์หากเป็นโทรทัศน์ภาพขาวดำเราจะสามารถสื่อสารเรื่องราวได้แต่อารมณ์จะออกมาแบบแบน ๆ ถ้ามีสีเข้าไปช่วยจะบอกได้เลยว่าบรรยากาศของภาพเป็นอย่างไร เวลาเช้า สาย บ่าย ค่ำ ทำให้ผู้ดูคล้อยตามได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี การยึดหัวใจของศิลปะทั้ง 3 นี้ไว้ก็ไม่ใช่ว่าจะทำให้เราประสบความสำเร็จ เสมอไป ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือ ความคิดสร้างสรรค์ รวมไปถึงการดุแบบอย่างครูอาจารย์ หรือรุ่นพี่ที่เคยทำงานมาก่อนก้จะช่วยสร้างประสบการณ์ทางศิลปะให้เรามากขึ้น เช่นการไปดุนิทรรศการศิลปะที่จัดขึ้นตามสถานที่ต่าง ๆ หรือนิทรรศการของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เป็นต้น เมื่อเรากำหัวใจทั้ง 3 ห้อง ของการสร้างสรรค์ศิลปะไว้ในมือได้แล้ว ความสำเร็จต่าง ๆ ในการทำงานศิลปะก็จะตามมาอย่างแน่นอน | |
ผู้ตั้งกระทู้ ครูอุ๋ย :: วันที่ลงประกาศ 2010-10-23 12:58:02 |
Copyright © 2010 All Rights Reserved. |
Visitors : 315771 |